บทความ

ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย พบว่าความรุนแรงลดลง

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 16,2017

 - - ดร. มานะ นิมิตรมงคล  วันที่ 13 สิงหาคม 2560 - -

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

“ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” พบว่าความรุนแรงลดลง และ “คนไม่จ่ายสินบนมีมากขึ้น ขณะที่คนจ่ายก็มีเพิ่มขึ้นสูง”

 

รายงานผลการสำรวจ “ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” (CSI) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมามีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
 

1. ดัชนีคอร์รัปชันได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 55 คะแนนในการสำรวจคราวที่แล้ว เป็น 53 คะแนน ถือว่าแย่ลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์เกินกว่า 50 คะแนน หรือสอบผ่าน จึงยังไม่น่ากังวลว่าเป็นการถดถอยอย่างน่าวิตก และภาพรวมผลการประเมินในช่วงเวลาของรัฐบาลนี้ยังดีกว่ารัฐบาลอื่นในรอบ 6 ปีครึ่งที่เคยสำรวจมา

 

2. ความรุนแรงของการจ่ายสินบนลดลง กล่าวคือ ประชาชนที่ตอบว่า “ลดลง” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 48 เป็น 51 ประชาชนที่ตอบว่า “เพิ่มขึ้น” ก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกันจาก 19 เป็น 35 หรือกล่าวได้ว่า คนไม่จ่ายมีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน คนจ่ายก็จ่ายมากขึ้นเช่นกัน

 

3. ในการสำรวจครั้งที่แล้ว อัตราสินบนเฉลี่ยอยู่ที่ 1 - 15% แต่คราวนี้ขยับเป็น 6 - 15% ขณะที่อัตราสินบนที่ 20 - 25% เริ่มปรากฎให้เห็น

 

4. ประชาชนเป็นห่วงว่าอาจมีคอร์รัปชันมากขึ้นในหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งคณะผู้สำรวจประเมินว่า อาจเป็นเพราะข่าวและข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการใช้อำนาจและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีการตั้งคำถามกันมากในขณะนี้ กอปรกับการที่รัฐจะมีการลงทุนในเมกกะโปรเจคอีกเป็นจำนวนมาก

 

5. ประชาชนมองว่าสาเหตุสำคัญที่คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น เป็นเพราะความไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้ยาก กฎหมายเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจสูง ความล่าช้ายุ่งยากของกฎหมายกฎระเบียบในการติดต่อราชการ

 

6. ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อภาคส่วนหรือองค์กรต่างๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยพบว่าป.ป.ช. ได้รับความเชื่อมั่นสูงกว่าทุกครั้งที่เคยสำรวจมา

 

7. โดยสรุป ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย 4 หมวด มีคะแนนลดลง 3 หมวด คือ ด้านการป้องกัน การปราบปราม และ ปัญหาและความรุนแรงของคอร์รัปชัน คงมีด้านการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกเพียงด้านเดียวที่คะแนนสูงขึ้น

 

ข้อคิดเห็นของผู้เขียนต่อผลสำรวจ

 

ก. “ทัศนคติ ความตื่นตัวและเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันของประชาชนมีมากและชัดเจนขึ้น” เห็นได้จากการตอบแบบสอบถามครั้งหลังนี้ ประชาชนเลือกตอบแบบกลางๆ น้อยลง เช่น ไม่แน่ใจ ไม่เพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม แต่เลือกตอบแบบฟันธงไปทางใดทางหนึ่งเลยว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จ่ายหรือไม่จ่าย เพิ่มขึ้นหรือลดลง

 

ข. ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ Global Corruption Barometer 2017 (มีนาคม 2560) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ซึ่งเป็นผู้จัดทำการสำรวจ CPI เช่นกัน

ความสอดคล้องมีในแง่ที่ว่า คนไทยรับรู้และเข้าใจถึงการโกงกินที่กำลังเป็นปัญหาวิกฤติของประเทศ จึงต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับคอร์รัปชันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ติดตามและแสดงการสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการดำเนินการและมาตรการของรัฐบาลเพื่อเอาชนะปัญหานี้ให้ได้

 

ค. การที่กฎหมายและมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายต่อสาธารณะและที่ออกมาบังคับใช้แล้วแต่ยังมีผลในทางปฏิบัติน้อยมาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมขาดความมั่นใจในการควบคุมคอร์รัปชันในอนาคต เช่น กรณี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ และ พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ

 

ง. ต่อคำถามที่ว่า “อะไรคือสาเหตุ” และ “อะไรคือรูปแบบคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” มีข้อสังเกตว่า คำตอบในการสำรวจแต่ละครั้งมักสัมพันธ์กับข่าวอื้อฉาวการโกงกินหรือความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ

 

“ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน” เป็นการสำรวจทางวิชาการทุก 6 เดือน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ด้วยเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชาชน ข้าราชการ และนักธุรกิจ

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS

Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU

Follow IG : https://goo.gl/aARAzS

 

 WebSite : http://www.anticorruption.in.th